เปิดรับสมัครเข้าร่วมการประกวดแข่งขัน “การออกแบบอย่างใจคิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon” (UtuNoi Hackathon)

เปิดรับสมัครครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

จากโรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับคุณครูและเด็กนักเรียน สำหรับโรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง
2. เพื่อสร้างชุมชนวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Community data science) อุตุน้อย ผ่านกระบวนการประกวดแข่งขัน
3. เพื่อพัฒนาอุปกรณ์วัดความเร็วลม วัดทิศทางลม และวัดปริมาณน้ำฝน สำหรับเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ที่อยากพัฒนาสถานีอุตุน้อยเองร่วมกับบอร์ด KidBright ที่มีอยู่

เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดแข่งขัน

เนื่องจากบอร์ด KidBright มีศักยภาพในการเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์และส่งข้อมูลที่เก็บได้ขึ้นคลาวด์ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากบอร์ด KidBright ที่กระจายอยู่ในโรงเรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนาต่อยอดบอร์ด KidBright ให้เป็นสถานีอุตุน้อย โดยการติดตั้งเซนเซอร์ภายนอกหลากหลายชนิดสำหรับตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ และสหวิทยาการใหม่ ได้แก่ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT), ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา  

สถานีอุตุน้อยเป็นสถานีตรวจวัดสภาพอากาศขนาดเล็ก ที่ถูกพัฒนาต่อยอดโดยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความสามารถของบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นส่วนประมวลผลหลักของสถานีอุตุน้อย นั่นคือ การเชื่อมต่อบอร์ด KidBright กับเซนเซอร์ภายนอกชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เซนเซอร์วัดความชื้น เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดความเร็วลม เป็นต้น ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเบื้องต้นที่สถานีอุตุน้อยสามารถวัดและส่งข้อมูลไปยังคลาวด์ ได้แก่

  • ความชื้น
  • อุณหภูมิ
  • ความเข้มแสง
  • ความเร็วลม
  • ทิศทางลม
  • ปริมาณน้ำฝน

รายละเอียดการแข่งขัน

1.  โจทย์การแข่งขัน ออกแบบและสร้างเครื่องมือวัดความเร็วลม เครื่องมือวัดทิศทางลมหรือเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยใช้เครื่องมือ/ อุปกรณ์ ที่มีอยู่ภายในห้อง Fablab ที่เกี่ยวกับการออกแบบ (จับฉลากก่อนการแข่งขัน 1 โจทย์ /ทีม)
2. อุปกรณ์ที่จัดเตรียมไว้สำหรับผู้เข้าแข่งขันทุกทีม 

  • คอมพิวเตอร์ที่ลงโปรแกรมที่ใช้ออกแบบพื้นฐานทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ
  • ชุดเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่เหมาะสำหรับโจทย์การประกวด
  • บอร์ดสมองกลควบคุม ได้แก่ บอร์ด KidBright และบอร์ดเสริมอื่น ๆ
  • Plugin โปรแกรมเสริมมาตรฐาน
  • ฐานสถานีวัดอุตุน้อย (ทดสอบการติดตั้ง)
  • เครื่องมือวัดสำหรับทดสอบ เครื่องมือวัดความเร็วลม วัดทิศทางลม วัดปริมาณน้ำฝน
3. ระยะเวลาการแข่งขัน 36 ชั่วโมงต่อเนื่อง

เงื่อนไขการรับสมัคร

1. ทีมที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ประกอบด้วย ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง
2.  ในแต่ละทีม มีสมาชิกได้สูงสุด 5 คน โดยต้องมีจำนวนครู 2 คนและจำนวนนักเรียนไม่เกิน 3 คน และต้องมาจากโรงเรียนเดียวกันทั้งหมด
3. หัวหน้าทีมต้องเป็นครูที่ผ่านการอบรมในหัวข้อ KidBright อุตุน้อย
4. ทีมที่สมัครและผ่านการคัดเลือกต้องสามารถเข้าร่วมแข่งขัน “การออกแบบอย่างใจคิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon” (UTUNoi Hackathon) ในวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนดได้

รายละเอียดการคัดเลือกรอบที่ 1 (คัดเลือกจากใบสมัคร)

1. กำหนดแนวคิด-ปัญหา และเป้าหมายชัดเจน สำหรับการพัฒนาสถานีอุตุน้อย ที่อยากได้ในอนาคต
2. อธิบายกระบวนการพัฒนาได้อย่างชัดเจนและแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการใช้งานสถานีอุตุน้อยและ UtuNoi PlayGround
3. มีรายละเอียดทางเทคนิคที่สอดคล้องกับพัฒนาสถานีอุตุน้อยที่นำเสนอ
4. ไม่จำกัดความคิด โดยแต่ละทีมสามารถเสนอโครงการที่ต้องมีการเพิ่มเติมอุปกรณ์ได้ เช่น เซนเซอร์รับค่าต่างๆ เป็นต้น
5. ข้อเสนอโครงการในการคัดเลือกรอบที่ 1 นี้ จะไม่ถูกนำไปพัฒนาต่อในการแข่งขัน “การออกแบบอย่างใจคิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon” (UtuNoi Hackathon) แต่จะถูกสำหรับการคัดเลือกทีมที่จะผ่านเข้ารอบต่อไป เท่านั้น

แผนการดำเนินกิจกรรม

เงินรางวัล

  • รางวัลที่ 1 สำหรับผู้พัฒนาเครื่องมือวัดความเร็วลม          มูลค่า 20,000 บาท
  • รางวัลที่ 1 สำหรับผู้พัฒนาเครื่องมือวัดทิศทางลม            มูลค่า 20,000 บาท
  • รางวัลที่ 1 สำหรับผู้พัฒนาเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน      มูลค่า 20,000 บาท

ผู้ประสานงาน

นางสาวจันทกร แจ้งชัด
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.)
งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS)
โทร. 02 564 6900 ต่อ 2324
e-mail jantakorn.jan@nectec.or.th