การประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023

เปิดรับสมัครการประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023

วัตถุประสงค์ (Objective)
  • เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบ STEAM Education ในพื้นที่ EEC
  • เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยเกิดความสนใจในการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI และหุ่นยนต์
  • เพื่อยกระดับองค์ความรู้งานวิจัยด้าน AI และหุ่นยนต์ของประเทศไทยเทียบเท่าระดับสากล
คุณสมบัติผู้สมัคร (Requirements)
  1. ผู้เข้าแข่งขันต้องศึกษาอยู่ระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 ในเขตพื้นที่ EEC
  2. ที่ปรึกษาต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม KidBright AI Platform (หลักสูตรใดก็ได้) หรือเป็นผู้มีอุปกรณ์ KidBright AI Platform หรือสามารถจัดหาอุปกรณ์ KidBright AI Platform เพื่อใช้ในการแข่งขันได้ และเป็นบุคลากรประจำสถานศึกษาในเขตพื้นที่ EEC
  3. มีความสนใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลงานหรือ เพื่อประยุกต์ใช้งานด้าน AIและหุ่นยนต์ สำหรับแสดงบนเวทีเพื่อสร้างความบันเทิง เช่น การเล่าเรื่องหรือเล่านิทาน การเต้น การแสดงโชว์ร่วมกับหุ่นยนต์ที่แสดงถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ เป็นต้น
  4. มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามกำหนดการของโครงการฯ ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการฯ หากไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมหลักได้ จะถือว่าทีมสละสิทธิ์
เงื่อนไขการสมัคร (Application)
  1. รับสมัครเป็นทีม ทีมละ 3 – 5 ท่าน/ทีม (นักเรียนตั้งแต่ 2 – 3 ท่าน และคณาจารย์หรือบุคลากรด้านการศึกษาอีก 1 – 2 ท่าน เป็นที่ปรึกษา)
  2. คิดผลงานสิ่งประดิษฐ์/เทคนิค/กระบวนการในการผสมผสานเทคโนโลยี KidBright AI Platform เทคโนโลยี AR/VR และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เข้ากับศิลปะการแสดง เพื่อสร้างความบันเทิงบนเวที โดยทำการแสดงในระยะเวลา 1 – 2 นาที ส่งเข้าร่วมโครงการฯ โดยจะเป็นผลงานที่คิดสร้างสรรค์ และพัฒนาอยู่ก่อนแล้ว หรือคิดสร้างสรรค์ใหม่ก็ได้ แต่จะต้องไม่เคยส่งประกวดที่ใดมาก่อน
  3. เตรียมข้อมูลตามผลงานที่จะส่งสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในรูปแบบของ “ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน (Proposal)” เพื่อชี้แจงให้คณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทราบถึงแนวทาง รูปแบบในการพัฒนา และการนำผลงานไปแสดง
  4. กรอกใบสมัคร online พร้อมส่ง “ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน” ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทางเว็บไซต์หลักของโครงการฯ ภายในวัน และเวลา ที่โครงการฯ กำหนด
  5. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ครบตามวัน และเวลา ที่โครงการฯ กำหนด
รูปแบบและกระบวนการการจัดกิจกรรม (Events)

          ส่วนที่ 1  การจัดอบรมเสริมทักษะเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ผสมผสานศิลปะการแสดง ให้กับผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกรอบคัดเลือก โดยจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 6 หัวข้อ ได้แก่

           ส่วนที่ 2 คัดเลือกรอบ 8 ทีม ผู้เข้าแข่งขันจะต้องส่งใบสมัครในรูปแบบออนไลน์ โดยจัดทำข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงานแนบในใบสมัครออนไลน์ (สามารถดาวน์โหลดตัวอย่างรูปแบบเอกสารได้ในหัวข้อด้านล่าง) ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือก 8 ทีม ที่มีแนวโน้มในการพัฒนาผลงานตอบโจทย์การแข่งขัน

           ส่วนที่ 3 ช่วงพัฒนาผลงานและนำเสนอผลงาน  โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาในการพัฒนาผลงานหลังจากสิ้นสุดการอบรมแล้วประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะต้องทำการบันทึกวีดีโอผลงานของทีมประกอบด้วย วีดีโอการแสดง 1 – 2 นาที และ วีดีโอเชิงเทคนิค 15 นาที ซึ่งเป็นการอธิบายหลักการที่ประยุกต์ใช้และสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์แต่ละส่วน พร้อมจัดทำเอกสารรายละเอียดผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสำหรับประกอบการตัดสิน โดยจะมีการสัมภาษณ์ในรูปแบบออนไลน์

          ส่วนที่ 4 การประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023 รอบชิงชนะเลิศ เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศการประกวดแข่งขัน โดยตัดสินจากการแสดงจริงบนเวที ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

ประกาศและเอกสารเผยแพร่ (Announcements and Public Documents)
รายละเอียดโครงการ
ตัวอย่าง Proposal
กติกาและเกณฑ์การตัดสิน
แนวทางการพัฒนาผลงาน
สื่อประกอบการอบรม
วีดีโอการอบรม (ย้อนหลัง)
วุฒิบัตรสำหรับผู้เข้าอบรม
วีดีโอการแข่งขัน (ย้อนหลัง)
ระยะเวลาการแข่งขัน (Schedule)

การสนับสนุนจากโครงการ (Funding)

          ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบ 8 ทีม จะได้รับทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานต่อยอด ทีมละ 3,000 บาท และจะได้รับการสนับสนุนค่าเดินทาง และค่าอาหาร สำหรับการเข้าประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023 ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

รางวัล (Awards)
    • เกียรติบัตร ผู้ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี AR/VR และศิลปะการแสดง
    • เกียรติบัตร ผู้ผ่านเข้ารอบคัดเลือก 8 ทีม การประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023
    • เกียรติบัตร ผู้ชนะการประกวดแข่งขัน KidBright STEAM 2023
    • เงินรางวัลชนะเลิศ จำนวน 20,000 บาท
    • เงินรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 10,000 บาท
    • เงินรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 5,000 บาท
ประกาศผลรอบคัดเลือก 8 ทีม (Selection Result)

ตัวอย่างการออกแบบผลงาน (Project’s references)

การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 – RoboCupJunior OnStage 2022
ชื่อผลงาน: หนุ่มสาวอีสานสิขออาสาพาม่วนเด้อจ้า
ทีม: Anukoolnaree by KidBright (ทีมตัวแทนประเทศไทย)
โรงเรียน: โรงเรียนอนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์

          การรำประกอบดนตรีพื้นบ้านของชาวอีสาน โดยนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของ KidBright AIBot (Nano Pi) มาเป็นส่วนประกอบของหุ่นยนต์ผู้ควบคุมวงดนตรี (Conductor) เพื่อแยกแยะภาพอุปกรณ์จักรสาน 3 ชนิด ได้แก่ ตะกร้า ไซ และกระติ๊บ จากนั้นส่งคำสั่งผ่านสัญญาณบลูทูธไปยังหุ่นยนต์นักดนตรีเพื่อควบคุมท่าทางเสมือนเล่นเครื่องดนตรีและควบคุมหุ่นยนต์นางรำให้รำด้วยท่าทางที่แตกต่างกัน 3 ท่า โดยหุ่นยนต์นักดนตรีทั้งหมดและหุ่นยนต์นางรำเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสั่งการควบคุมด้วยบอร์ด KidBright ให้เซอร์โวหรือมอเตอร์แต่ละส่วนขยับตามชุดคำสั่งที่ออกแบบไว้

การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 – RoboCupJunior OnStage 2022
ชื่อผลงาน: สายน้ำบันเทิง รื่นเริงวันลอยกระทง
ทีม: CNP Loy Krathong by KidBright (ทีมตัวแทนประเทศไทย)
โรงเรียน: โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม จ.ชัยนาท

           การแสดงการจำลองวัฒนธรรมประเพณีไทยอย่างเทศกาลลอยกระทงมานำเสนอในรูปแบบของโลกหุ่นยนต์ โดยแบ่งพื้นที่การแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนเครื่องเล่นม้าหมุนและชิงช้าสวรรค์ ส่วนเวทีรำวง และส่วนริมน้ำจำลองสำหรับลอยกระทงและลอยโคม ซึ่งมีหุ่นยนต์มัคคุเทศก์คอยนำชมงานเทศกาลเป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาด้วย KidBright AIBot (IPST-AI) สำหรับแยกแยะภาพบนพื้นและเดินตามทางที่กำหนดไว้
อีกทั้งเน้นการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหุ่นยนต์กับหุ่นยนต์ผ่านการส่งสัญญาณอินฟราเรดด้วย หุ่นยนต์และอุปกรณ์ประกอบฉากในกลุ่มการแสดงทั้ง 3 ส่วนจะเป็นการทำงานด้วยชุดคำสั่งจากบอร์ด KidBright เพื่อสั่งการควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ทั้งหมด

การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 (รอบ 4 ทีมสุดท้าย)
ชื่อผลงาน: โอ้ การละเล๊น
ทีม: Oh my GOT (Game Of Thailand)
โรงเรียน: โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี

          การจำลองการละเล่นพื้นบ้านของไทย 4 ภาค ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ ได้แก่ ชนด้วง กาฟักไข่ งูกินหาง ชักเย่อ ซึ่งในภายหลังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้เลือกการละเล่นเพียง 1 ประเภท เพื่อพัฒนาผลงานให้มีความเหมาะสมกับเวลาในการแสดง จึงออกมาเป็นการแข่งขันชนด้วง โดยประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ KidBright AIBot (JaxBot) รูปแบบการแยกแยะภาพ เป็นกรรมการตัดสินการชนด้วงด้วยการอ่านป้ายตัดสินและสั่งการบอร์ด KidBright ผ่านสัญญาณบลูทูธในการควบคุมแขนหุ่นยนต์กรรมการให้ยกธงตัดสิน นอกจากนี้ยังใช้บอร์ด KidBright เป็นอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ด้วงด้วย

การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 (รอบ 4 ทีมสุดท้าย)
ชื่อผลงาน: นกแก้วมหัศจรรย์
ทีม: NEXT LEVEL
โรงเรียน: โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ

          การเล่านิทานในรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) โดยอ้างอิงนิทานอีสปเรื่อง “กากับเหยือกน้ำ” ผ่านการออกแบบฉากของเรื่องอย่างป่าไม้และลำธารด้วยเทคโนโลยี AR ผสมผสานการออกแบบหุ่นยนต์นกแก้วด้วย KidBright AIBot (Nano Pi) ในการแยกแยะภาพสำหรับสั่งการการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์นกแก้ว

การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2022
ทีม: Mariteam
ประเทศ: ฝรั่งเศส
      

          การแสดงในหัวข้อการอนุรักษ์ท้องทะเลผ่านการเล่าเรื่องที่ประกอบด้วย หุ่นยนต์ปะการัง หุ่นยนต์แมงกะพรุน หุ่นยนต์ขยะ และหุ่นยนต์เต่า โดยมีตัวละครนักดำน้ำสองคน ดำน้ำในมหาสมุทรและพบว่าเต่ากำลังว่ายวนสับสนระหว่างขยะถุงพลาสติกกับแมงกะพรุนที่มีลักษณะคล้ายกัน จึงทำการสอนให้เต่าเรียนรู้และแยกแยะสีของแมงกะพรุนออกจากสีของถุงพลาสติก เมื่อแยกแยะได้เต่าก็จะว่ายไปหาแมงกะพรุนแทน ซึ่งเทคโนโลยีเด่นของทีมนี้คือการประยุกต์ใช้กล้องเพียง 1 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของหุ่นยนต์เต่าในการแยกแยะสี (color recognition) และตรวจจับใบหน้า (face recognition) เพื่อเปลี่ยนแปลงระดับค่าสี (สีเหลือหรือสีฟ้า) ที่จะต้องแยกแยะและว่ายตาม อีกทั้งยังมีการเรียนรู้ท่าทางมือ (hand gesture recognition) เพื่อสั่งการเคลื่อนที่ในหุ่นยนต์ขยะด้วย

การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2022
ทีม: Molibdênio
ประเทศ: บราซิล
    

         การแสดงได้นำเอาเกมดังในตำนานอย่าง Mario Kart มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีโลกความจริงเสมือน หรือ Augmented Reality (AR) ได้อย่างสร้างสรรค์ โดยมีการออกแบบไอเทมในเกม เช่น กล้วย หรือ ดาว ด้วยเทคโนโลยี AR แต่มีการเก็บไอเทมโดยตัวละครบนเวที ผ่านการตรวจจับวัตถุอย่างพวงมาลัยและแยกแยะด้วยกล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณฉากปราสาท ที่ออกแบบไว้เสมือนฉากในเกม เมื่อรถแข่งวิ่งเข้าเส้นชัยจะมีพลุจุดออกมาจากซุ้มประตูเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ ซึ่งบริเวณเหนือซุ้มประตูได้มีการติดตั้งกล้องสำหรับแยกแยะสีรถและส่งข้อมูลไปยังจอเกมสำหรับแสดงชื่อผู้ชนะอีกด้วย

การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2021 (Virtual Competition)
ทีม: Friendly Friends
ประเทศ: ฝรั่งเศส
   

         การแสดงประกอบจังหวะเสียงเพลงที่บรรเลงโดยหุ่นยนต์ ซึ่งสั่งการโดยท่าทางของนักแสดงอีก 2 ท่าน นับเป็นการฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์นักดนตรีจะมีกล้องอยู่ด้านหน้าเพื่อตรวจจับท่าทางมือของนักแสดง และแยกแยะคำสั่งตามท่าทางมือรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกับหุ่นยนต์ที่ร่วมแสดงอีก 2 ตัวด้านหน้า ที่ทำการควบคุมและเคลื่อนไหวตามจังหวะเสียงเพลงและการตอบสนองต่อนักแสดงข้าง ๆ

การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2019
ทีม: Gearchangers
ประเทศ: อเมริกา

         การแสดงของหุ่นยนต์อัตโนมัติแบบหมู่ ประกอบจังหวะเสียงเพลง โดยการควบคุมหุ่นยนต์หลายตัว (swarm robot) ให้เคลื่อนที่ประสานงานกันตามจังหวะเสียงเพลงและให้สอดคล้องกับการออกแบบรูปแบบการเคลื่อนที ซึ่งต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีการออกแบบระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อสร้างสีสรรค์และความบันเทิงให้กับผู้ชม พร้อมการออกแบบฉากเมืองที่มีสีสันน่าสนใจ เสริมการแสดงให้มีความสวยงาม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม (References)
ผู้ดำเนินโครงการฯ (Organized by)

ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EDT)
กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG)
และ งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS)
ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

ผู้ประสานงานโครงการฯ (Project’s Coordinator)

นางสาวจันทกร แจ้งชัด
งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS)
ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD)
โทร. 02-564-6900 ต่อ 2324
E-mail: Jantakorn.jan@nectec.or.th